ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
ไซนัส คือ ช่องว่างหรือโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณใบหน้า มีด้วยกัน 4 คู่ คือ บริเวณโหนกแก้มข้างจมูก บริเวณหัวคิ้วระหว่างลูกตา บริเวณหน้าผากและส่วนกลางกะโหลกศีรษะ แม้โพรงอากาศนี้จะเป็นทีว่างเปล่าแต่ถูกบุด้วยเยื่อเมือกบางๆ ชนิดเดียวกับเยื่อบุโพรงจมูก ในกรณีมีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้น เนื้อเยื่อบุไซนัสจะบวมมากขึ้น และรูเปิดไซนัสจะบวมและปิดลงทำให้ระบายอากาศไม่ได้
โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบและการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียของเยื่อบุจมูกและไซนัส เมื่อเกิดการติดเชื้อเนื้อเยื่อในโพรงไซนัสจะมีอาการบวม และร่างกายจะผลิตสารคัดหลั่งเมือกเหลวขึ้นมามาก จนเกิดการอุดตันจนกลายเป็นหนองอักเสบหรือน้ำมูกเขียวข้น
อาการของไซนัสอักเสบ
เนื่องจากไซนัสอักเสบเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุไซนัสที่บริเวณโหนกแก้ม โพรงจมูก และกระดูกหน้าผาก อาการของไซนัสส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ ดังนี้
- หายใจติดขัด อึดอัด คัดจมูก
- มีน้ำมูกสีเขียวหรือสีเหลืองข้น
- ประสาทรับกลิ่นไม่ดี
- ปวดบริเวณไซนัส ได้แก่ โหนกแก้ม หน้าผาก จมูกตรงระหว่างคิ้ว และหัวตา
- ปวดฟัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นปาก
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- ไอ เจ็บคอ มีมูกข้นในลำคอหรือมูกไหลลงลำคอ
อาการของไซนัสอักเสบมีระยะเวลาฟื้นตัวและหายดีแตกต่างกันตามชนิดของการอักเสบ คือ
- Acute ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดร่วมกับโรคหวัด ระยะเวลาป่วย 2-4 สัปดาห์
- Subacute ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน การอักเสบเกิดขึ้นยาวนานประมาณ 4-12 สัปดาห์
- Chronic ไซนัสอักเสบเรื้อรัง การอักเสบเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มักพบร่วมกับการป่วยโรคภูมิแพ้
- Recurrent ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน การอักเสบเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี โดยแต่ละครั้งมีอาการนานมากกว่า 10 วัน
การดูแลตนเองเบื้องต้น
หากป่วยด้วยไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน อาการจะทุเลาลงและหายดีภายใน 2-4 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ดังนี้
- การใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวดและลดไข้ จะช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ และกลุ่มยาลดน้ำมูกและแก้คัดจมูก ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกหายใจติดขัด ข้อควรระวังของยากลุ่มนี้ คือ ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกินกว่า 1 สัปดาห์
- การใช้แผ่นประคบร้อน (Warm Pack) ด้วยการประคบตามจุดต่าง ๆ ที่มีอาการปวดบนใบหน้า ช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้มูกเหลวที่อักเสบไหลออกมามากขึ้น
- การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยก่อนการล้างจมูกควรล้างมือและอุปกรณ์ทุกชนิดให้สะอาด แล้วใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงจมูกข้างหนึ่งอย่างช้า ๆ น้ำเกลือจะชะล้างหนองที่อักเสบและสิ่งสกปรกที่ตกค้างภายในโพรงจมูกให้ไหลออกมาทางจมูกอีกข้างหนึ่ง
ไซนัสอักเสบรักษาได้อย่างไร?
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ เบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับยาบรรเทาอาการปวด คำแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือให้ยากิน ยาพ่นจมูกลดความบวม ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็ต้องรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดไซนัส Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคป ทำให้เห็นภาพ บริเวณที่ทำผ่าตัดได้ชัดเจนขึ้น และยังสามารถมองเห็นและทำผ่าตัดในบริเวณที่อยู่ด้านข้างได้ ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นขั้นตอนในการรักษาวิธีสุดท้ายเมื่อใช้วิธีการรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีริดสีดวงจมูก หรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการแทรกซ้อนทางตา หรือสมอง เช่น ตามัวลง ปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อยๆ
การป้องกันไซนัสอักเสบ
-ป้องกันตนเองจากไข้หวัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยไซนัสอักเสบ ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรคที่ดี รักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้หวัด
-หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต่อมลภาวะ ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่ออยู่ในบ้านก็ควรทำความสะอาดกำจัดฝุ่นและขนสัตว์อยู่เสมอ และหากป่วยเป็นภูมิแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสสารที่ตนแพ้ด้วย
-ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ เพราะควันและสารพิษจากบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองในเนื้อเยื่อจมูกและไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบตามมา
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น พวกพืชผักผลไม้และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ส้ม องุ่น ถั่ว ผักคะน้า หัวมัน ธัญพืช เนื้อปลา เป็นต้น
