ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก และกล้ามเนื้อลีบ ทั้งยังมีปัญหากับการพูด การเคี้ยว การกลืนอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย และการหายใจ โดยอาจเกิดจากเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส
ในปัจจุบัน สาเหตุของโรค ALS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือโปรตีนบางชนิดที่อาจทำให้เซลล์ประสาทตาย
- ความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย อย่างการมีระดับกลูตาเมตสูงเกินไป
- ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ
- การอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจนำไปสู่โรคนี้ได้ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค ALS มีอายุระหว่าง 40-60 ปี มีเพศชาย สัมผัสกับโลหะหรือสารเคมีบางชนิด มีอาการบาดเจ็บ ติดเชื้อจากบาดแผลอย่างรุนแรง สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส
โดยทั่วไป อาการมักเริ่มที่มือ เท้า แขน หรือขา แล้วจะค่อย ๆ กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
- อ่อนแรงบริเวณแขน ขา มือ หรือเท้า จนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการเดิน อาจสะดุดล้ม หรือหยิบจับสิ่งของไม่สะดวก
- รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลีบ และกระตุก รวมทั้งอาจมีอาการแข็งเกร็งบริเวณแขน ไหล่ และลิ้น
- พูดไม่ชัด เคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก
- หายใจไม่สะดวก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมกระบังลมได้ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการหายใจ
- ไม่มีแรงพยุงลำคอ ทำให้มีอาการคอตก
การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำอย่างไร
การวินิจฉัยโรคนี้อาจต้องมีการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และตรวจโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเสริม ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยตรง
- การตรวจชักนำประสาท เพื่อกระตุ้นเส้นประสาท วัดการทำงานของเส้นประสาท
- การตรวจ MRI SCAN เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในโพรงกระดูก หรือไขกระดูก
- การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลางและสมอง
การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส
เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคนี้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ จึงทำให้ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคที่แน่นอน แต่อาจลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เหมาะสม
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารโลหะหรือสารเคมีอันตราย หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยง
- หากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกโรคนี้ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
ในเมื่อสาเหตุของโรค ALS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และเป็นโรคที่ไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ฉะนั้นการป้องกัน หรือลดปัจจัยเสี่ยง จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรค หรือชะลอความรุนแรงของโรคได้
“เพราะสุขภาพนั้นสำคัญ” อย่ารอให้สายเกินไป