วัยทอง (Menopause) อาการวัยทองนั้นโดยที่จริงแล้ว สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย เกิดขึ้นมาจากฮอร์โมนเพศที่ลดระดับลง สำหรับในเพศหญิง เนื่องจากมีการลดปริมาณฮอร์โมนเพศลงอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าช่วงวัยทอง ทำให้สังเกตอาการได้ชัดเจนซึ่งต่างจากในเพศชายที่ระดับฮอร์โมนเพศจะค่อย ๆลดลงทีละน้อยทำให้หลายคนไม่ทันรู้ตัวว่าได้เข้าสู่วัยทองแล้ว

วัยทองในผู้หญิง คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน รังไข่หยุดการผลิตไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป ผู้ที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยที่อาการอาจหายไปเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา หรืออาจคงอยู่ไปตลอดจนสิ้นอายุขัย
ก่อนผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมือนเป็นสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า คือ ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน หรือมากะปริบกะปรอย และประจำเดือนขาดไปกว่า 1 ปี แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง ก่อนจะหมดประจำเดือนอย่างถาวร
หลังจากที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนแล้ว จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนี้
- ไม่มีประจำเดือน ช่องคลอดแห้ง
- ร้อนวูบวาบ ไม่สบายตัว มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน
- มีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ
- ผิวแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง
- อ้วนขึ้น ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง
- ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
สาเหตุของวัยทองในผู้ชาย
- เกิดจากฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรน ที่ลดต่ำลง
- ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่อ อายุ 40 ปีขึ้นไป
- ความเครียด พักผ่อนน้อย ดื่มแอลกอฮอล์ และโรคเบาหวาน เป็นปัจจัยที่เร่งให้อาการวัยทองมาเร็วขึ้นได้
อาการที่พบบ่อยที่เราสามารถสังเกตได้
- อารมณ์แปรปรวน
- อ่อนเพลีย
- สมาธิลดลง
- อ้วนลงพุง
- ความต้องการทางเพศลดลง
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
- มีอารมณ์ซึมเศร้า

การรักษาวัยทอง
การดูแลตนเอง
- หากมีอาการร้อนวูบวาบ ให้สวมใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย อยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เผ็ดร้อนหรือมีคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา
- หากอารมณ์แปรปรวน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายทำ
- เมื่อมีภาวะอ้วน ระบบเผาผลาญไม่ดี กระดูกไม่แข็งแรง ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy – HRT) เป็นการให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดและบรรเทาอาการ เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกในตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น
ขณะนี้ การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนกำลังเป็นที่ถกเถียงกันถึงผลดีและผลเสีย เพราะวิธีการนี้อาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อผู้ป่วยบางราย เช่น เกิดอาการปวดหัว มีเลือดออกจากช่องคลอด เพิ่มความเสี่ยงของการแข็งตัวของเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยากลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressant) ผู้หญิงวัยทองมักมีอารมณ์แปรปรวน ยาต้านเศร้าจะใช้ในรายที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะซึมเศร้า ส่วนอาการในภาวะหมดประจำเดือน คือ ช่องคลอดแห้ง เจ็บหรือคันบริเวณช่องคลอด สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ครีม สารเพิ่มความชุ่มชื่นหรือเจลหล่อลื่นในช่องคลอดโดยตรง
การแพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็มหรือการใช้สมุนไพร เช่น แบล็ค โคฮอช (Black Cohosh) เป็นสารสกัดจากสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างถึงผลทางการรักษาอาการวัยทอง อย่างอาการร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน และปัญหาอารมณ์แปรปรวน
กิจกรรมบำบัด การทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มความผ่อนคลายให้ผู้หญิงในวัยทอง อย่างการนั่งสมาธิ และบางกิจกรรมก็ส่งเสริมสุขภาพร่างกายได้ด้วยตนเอง อย่างการเล่นโยคะ หรือไทเก๊ก ส่วนกิจกรรมบำบัดที่เน้นกระบวนการคิดและการพัฒนาจิตใจ คือ การบำบัดปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการทำจิตบำบัดระยะสั้น ผู้ป่วยต้องเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยและหาทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญผ่านกระบวนการคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากและควบคุมจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง มีทั้งการทำจิตบำบัดแบบกลุ่มและรายบุคคล มีประสิทธิผลทางการรักษาต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือความผิดปกติทางอารมณ์ โดยกระบวนการบำบัดเป็นไปใต้การดูแลของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
เตรียมตัวรับมืออย่างไร ก่อนเข้าสู่วัยทอง
เนื่องจากช่วงวัยทอง เป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเพศจะลดลงอย่างมาก ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ดังนั้น ก่อนที่เราจะเข้าสู่ช่วงวัยทองของชีวิต แนะนำให้หาโอกาสเข้ามาพบแพทย์เพื่อพูดคุย ปรึกษา และทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว ร่างกายเราจะเป็นอย่างไรบ้าง มีอาการอย่างไรบ้าง และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ให้สามารถผ่านช่วงวัยทองไปได้อย่างมีความสุข
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง ก่อนที่ประจำเดือนจะหมดถาวร หรือในช่วงที่ประจำเดือนมาแบบ 2-3 เดือนครั้ง มาๆ หายๆ ตอนอายุ 40 ปีปลายๆ นั่นก็ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ได้แล้วว่า ในอีกไม่ช้าเราก็จะเดินหน้าเข้าสู่วัยทองอย่างเต็มตัว ดังนั้นช่วงนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้ และเตรียมฟิตร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด เพราะเมื่อถึงเวลาวัยทองจริงๆ ร่างกายที่ได้รับการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี จะมีความรุนแรงของอาการวัยทองลดลง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้มากขึ้น
…แม้เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงวัยทองไม่ได้ แต่หากเราสามารถดูแลตัวเองได้ดี ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วล่ะก็ อาการวัยทองต่างๆ ที่คอยกวนใจเราก็จะค่อยๆหายไป การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเป็นอย่างดี และเตรียมพร้อมตัวเองได้อย่างดีนั้น ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการวัยทองรุนแรง รวมถึงลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนได้ด้วย