…ในปัจจุบัน คนจำนวนมากได้รับประทานน้ำตาลในปริมาณมากกว่าที่แพทย์แนะนำ จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health; NIH) ได้รายงานว่า คนส่วนใหญ่จะได้รับแคลอรี่จากน้ำตาลที่เติมลงในอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 15% ของปริมาณที่แนะนำ โดยยังไม่ได้รวมถึงน้ำตาลที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ เช่น น้ำตาลในผลไม้ หรือน้ำตาลในนม และในอาหารชนิดอื่นๆ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่จึงมักจะรับประทานน้ำตาลมากกว่าปริมาณที่เหมาะสม
>>น้ำตาล จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่แม้ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่หากบริโภคในปริมาณมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า คนทุกเพศทุกวัยจึงควรลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง
ผลเสีย ที่เกิดจากการบริโภค “น้ำตาล”
น้ำหนักเพิ่ม หลังบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูง ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับมากเกินความต้องการไปสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ระดับพลังงานแปรปรวน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง และปริมาณฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระดับพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียตามมา
เสี่ยงเกิดสิว เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จะเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนถูกหลั่งออกมามากขึ้น ผิวหนังผลิตน้ำมันมากขึ้น และเสี่ยงเกิดการอักเสบมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดสิวได้
หน้าแก่ก่อนวัย เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โมลกุลของน้ำตาลเข้าไปจับกับโปรตีนจะก่อให้เกิดสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งสามารถทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในผิว ส่งผลให้ผิวหนังหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอย และจุดด่างดำตามมาได้
เซลล์อาจเสื่อมสภาพ เทโลเมียร์เป็นโครงสร้างส่วนปลายสุดของโครโมโซมที่คอยป้องกันการเสื่อมสภาพของโครโมโซม การกินน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำอาจทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงเร็วขึ้น เซลล์ในร่างกายจึงอาจเสื่อมสภาพก่อนถึงเวลาอันเหมาะสม
เสี่ยงโรคซึมเศร้า นักวิจัยเชื่อว่าภาวะน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ ระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ผิดปกติ และการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต
เสี่ยงโรคเบาหวาน หากกินน้ำตาลมาก ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล เมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นก็จะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าปกติ
เสี่ยงโรคหัวใจ มีงานวิจัยพบว่าการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจก่อให้เกิดโรคอ้วน ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
เสี่ยงไขมันพอกตับ น้ำตาลฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่ผู้ผลิตมักเติมลงไปในเครื่องดื่ม ฟรุกโตสไม่ให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อและสมอง แต่จะถูกลำเลียงไปยังตับเพื่อย่อยสลาย ซึ่งฟรุกโตสส่วนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน แต่อีกส่วนหนึ่งจะสะสมเป็นไกลโคเจนหรือไขมันพอกอยู่ที่ตับ หากมีการสะสมดังกล่าวในปริมาณมากก็อาจก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้เช่นกัน
เสี่ยงมะเร็ง การกินอาหารและเครื่องดื่มเติมน้ำตาลอาจก่อให้เกิดโรคอ้วน ภาวะดื้ออินซูลิน และการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งปัญหาสุขภาพดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งได้
>>การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปนั้นสามารถส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ มีงานวิจัยที่พบว่า การกินน้ำตาลมากเกินไป อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ หรือฟันผุ เป็นต้น การล้างพิษน้ำตาล อาจจะสามารถช่วยแก้ไขอาการติดหวาน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเหล่านี้ได้

แนวทางในการลดน้ำตาลอย่างเหมาะสม
1. ค่อยๆ ลดปริมาณ หากปกติแล้วคุณเป็นคนที่ต้องทานของหวานเป็นประจำ การงดรับประทานของหวานในทันที อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และตบะแตกได้ง่ายๆ ดังนั้นคุณจึงควรค่อยๆ ลดปริมาณของหวานที่รับประทานลงมา แทนการงดของหวานไปเลย
2. เปลี่ยนจากน้ำหวานมาเป็นน้ำเปล่า ผู้ที่ติดหวานส่วนใหญ่นั้นมักจะชอบดื่มน้ำหวานต่างๆ ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ควรเปลี่ยนจากการดื่มน้ำหวานเหล่านี้ มาเป็นการดื่มน้ำเปล่าที่ไม่มีแคลอรี่แทน หรือหากคุณรู้สึกเบื่อน้ำเปล่า อาจลองเปลี่ยนมาดื่มโซดา หรือเติมผลไม้ หรือใบมินท์หอมๆ ลงในน้ำเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติก็ได้เช่นกัน
3. หลีกเลี่ยงน้ำตาลเทียม หลีกเลี่ยงสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่างๆ ทั้งหญ้าหวาน ซูคราโลส (Sucralose) หรือแอสปาร์แตม (Aspartame) เพราะแม้ว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้จะไม่มีแคลอรี่ และไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็อาจจะทำให้คุณยังคงติดรสชาติหวานอยู่ และไม่สามารถลดกินหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก
4. อ่านฉลากก่อนซื้อ ควรอ่านฉลากของอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนรับประทาน เพราะอาหารเหล่านั้นอาจแฝงมาพร้อมกับน้ำตาล หรือสารให้ความหวานอื่นๆ อยู่เช่นกัน
5. เลือกกิน เลือกอาหารและขนมของขบเคี้ยวให้ดีก่อนจะกิน ควรหันมากินอาหารที่ไม่มีน้ำตาล เช่น ถั่ว ไข่ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ต่างๆ แทนการกินขนมที่มีน้ำตาลสูง
>> นอกจากปัญหาสุขภาพข้างต้น การบริโภคน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคไต โรคเก๊าท์ โรคเหงือกและฟัน สมองเสื่อม เป็นต้น
>> การติดหวาน และรับประทานน้ำตาลมากเกินกว่าในปริมาณที่เหมาะสม เป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ส่งผลให้คนเราเกิดอาการป่วย มีสุขภาพที่ไม่ดี และมีอายุยืนยาวลดลง ดังนั้น การลดปริมาณการกินน้ำตาล จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้
